การเมืองคืออะไร? (What is Politics?) : Andrew Heywood

November 8, 2009

การเมืองคืออะไร? (What is Politics?)

Andrew Heywood เขียน

อนุรัตน์  ฝันถึงภูมิ  แปลและเรียบเรียง

การเมืองเป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจเพราะวางอยู่บนพื้นฐานของการถกเถียงโต้แย้ง  โดยเป็นเรื่องของการเถียงว่าควรจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร  แย้งกันว่าใครควรจะได้อะไร?  อำนาจและทรัพยากรต่างจะกระจายไปได้อย่างไร? สังคมควรจะอยู่บนหลักความร่วมมือหรือความขัดแย้ง? ฯลฯ  นอกจากนี้ ยังมีการโต้แย้งถึงวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วย เช่น การตัดสินใจรวมหมู่ควรจะเป็นอย่างไร? ใครจะเป็นคนมีบทบาท? แต่ละคนจะมีอิทธิพลในการตัดสินใจมากน้อยเพียงไหน อย่างไร? ฯลฯ

คำถามต่าง ๆ ข้างต้น ทำให้ปรมาจารย์อย่างอริสโตเติลเสนอว่า การเมืองเป็นศาสตร์ขั้นสูง(master science) การเมือง คือ กิจกรรมของมนุษย์ที่จะพยายามยกระดับชีวิตของตนและสร้างสังคมที่ดี  นอกจากนั้น การเมืองยังเป็นกิจกรรมทางสังคม เป็นความสัมพันธ์แบบตอบโต้ไม่ใช่แสดงออกมาแบบฝ่ายเดียว  ดังนั้น บุคคลอย่างโรบินสัน ครูโซ ที่แม้จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ, สร้างศิลปะอบโต้คม เป็นความสัมพันธ์แบบปฏิกะพยายามยกระดับชีวิตของตนและสร้างสังคมที่ดี  นอกจากนั้น การเมืองเป็นกิจกรรมทางสังคม เป็นความสัมพั ฯลฯ อย่างง่าย ๆ ขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่ถือว่าอยู่ในการเมืองเพราะอยู่คนเดียว  การเมืองเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ฟรายเดย์เข้ามาอยู่ด้วย

ลักษณะโต้แย้งถกเถียงของการเมืองได้ลามเข้ามาสู่ธรรมชาติของการศึกษาการเมืองเองด้วย ผู้ที่ศึกษาการเมืองต่างไม่ได้มีความเห็นพ้องกันทั้งในการบอกว่าอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่จะเป็นการเมือง และวิธีการที่ดีที่สุดในการวิเคราะห์และอธิบายกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ

ความหมายของการเมือง(Politics)

การเมืองในความหมายอย่างกว้าง คือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับการสร้าง, รักษา และแก้ไขกฎเกณฑ์ที่ใช้ในชีวิตของผู้คน  การเมืองมักถูกรับรู้ว่าเป็นประเด็นเดี่ยวกับวิชาการ จนมีความเข้าใจว่า พอพูดถึงการเมืองคือการศึกษาเกี่ยวกับการเมืองเป็นหลัก

การเมืองเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์สองรูปแบบอย่างแยกไม่ออก คือ ความขัดแย้ง(conflict)และการร่วมมือ (cooperation)   สิ่งแรก แสดงออกในลักษณะความคิดเห็นที่แตกต่าง, ความต้องการที่ไม่เหมือนกัน, ความต้องการที่จะแข่งขัน และการโต้แย้งถกเถียงเกี่ยวกับกฎที่ประกันผลประโยชน์ของขั้วตรงข้าม  สิ่งที่สอง คือ การที่ผู้คนเข้าใจว่า เพื่อที่จะทำให้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ สามารถทำหน้าที่ได้หรือผู้คนจะได้รับสิ่งที่ดี ทุกคนควรจะต้องรู้จักทำงานกับผู้อื่น  Henna Adrent เสนอว่า อำนาจทางการเมือง คือ การกระทำที่ประสานกัน(acting in concert)

จากความเกี่ยวข้องกับลักษณะดังกล่าว ทำให้หัวใจของการเมืองออกมาเป็นรูปแบบกระบวนการของการคลี่คลายความขัดแย้ง(conflict resolution) ที่ความเห็นหรือขั้วผลประโยชน์หนึ่งจะประนีประนอม(ซึ่งอาจจะหมายรวมถึงการปะทะในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย)กับคู่ตรงข้ามกับตัวเอง  ซึ่งในความหมายอย่างกว้างแล้วมักจะสนใจการเมืองในช่วงของการคลี่คลายความขัดแย้งมากกว่าผลของมัน คือ การมองว่าความขัดแย้งบางอย่างอาจจะไม่สามารถแก้ได้แต่ก็ยังเป็นการเมือง เนื่องจากความหลากหลาย(diversity)และความขาดแคลน(scarcity)ในสังคมนี้เอง ทำให้การเมืองจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ตลอดไป

ความพยายามจะนิยามความหมายของการเมืองจะเจอปัญหาใหญ่อยู่ 2 ประการ คือ  ปัญหาเรื่องภาษา ที่มีความหลากหลายในการใช้ กล่าวคือ การเมืองมีความหมายที่เข้มข้น(loaded term) ในขณะที่การคิดหรือพูดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์, ภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์ หรือชีววิทยาทำได้ไม่ยากนัก แต่ไม่ง่ายที่จะพูดถึงลักษณะของการเมืองโดยขาดความเข้าใจมาก่อน   หลายต่อหลายครั้งที่นักศึกษาหรือผู้สอนการเมืองเลือกที่จะเข้าใจแบบอคติ และที่แย่ไปกว่านั้นคือ การเมืองมักจะถูกใช้ไปทางลบ(dirty word) โดยถูกทำให้เป็นตัวแทนของปัญหา, คอร์รัปชั่น, ความรุนแรง, การบังคับ และการโกหกผู้อื่น ในปี 1775 Samuel Jackson บอกว่า การเมือง “ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากหนทางที่จะมีอำนาจในโลก” หรือในศตวรรษที่ 19 นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน Henry Adams สรุปว่า การเมืองคือ “ องค์การแห่งความเกลียดชังที่จัดได้อย่างเป็นระบบ”  ดังนั้น การนิยามการเมืองจึงต้องเกี่ยวพันกับการเลือกใช้จากสำนักต่าง ๆ  ดังนั้น ก็จะมีเหมือนกันที่มีความพยายามจะสร้างความหมายที่ดี-น่ายกย่องให้แก่ “การเมือง”

ปัญหาข้อที่สอง ซึ่งหนักกว่าเดิมคือ แม้แต่ผู้ที่มีอำนาจก็ไม่สามารถมีความเห็นร่วมกันว่า การเมืองคืออะไร  การเมืองถูกจำกัดความไปในหลายทิศทาง เช่น การใช้อำนาจ(exercise of power), การใช้อำนาจหน้าที่(exercise of authority), การตัดสินใจรวมหมู่(the making of collective decisions), การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด(the allocation of scare resources), การตบตาและขู่เข็ญบังคับ(practice of deception and manipulation) ฯลฯ  แม้คำนิยามของบทความนี้ที่ว่า  “กิจกรรมที่เกี่ยวกับการสร้าง, รักษา และแก้ไขกฎเกณฑ์ที่ใช้ในชีวิตของผู้คน “ จะพอครอบคลุมความหมายต่าง ๆ ข้างต้นได้บ้าง แต่ก็ไม่ทั้งหมด ปัญหาคือนิยามไม่ครอบคลุมลักษณะทั้งหมด และจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  เช่น การเมืองเป็นแค่การสร้างกฎ หรือการรักษากฎ หรือการแก้ไขกฎ หรือทั้งหมด? หรือ การเมืองจะมีอยู่ในทุกสังคมหรือสถาบันหรือมีอยู่ในที่เฉพาะ?

จากมุมมองมองดังกล่าว การเมืองเป็นแนวคิดที่ถูกทดสอบเสมอ ในขณะความหมายหนึ่งที่มีการยอมรับ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะถูกโต้แย้งได้

อย่างไรก็ดี การถกเถียงว่า “การเมืองคืออะไร?” มีค่าเพราะจะเปิดประตูไปสู่ความรู้ความเข้าใจต่อความไม่ลงรอยกันทางอุดมการณ์เชิงลึกของสำนักคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเราอาจจะแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้

  1. การเมือง คือ ศิลปะของรัฐบาล
  2. การเมือง คือ กิจกรรมสาธารณะ
  3. การเมือง คือ การประนีประนอมและการเห็นพ้อง
  4. การเมือง คือ อำนาจและการกระจายทรัพยากร

การเมือง คือ ศิลปะของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี Bismarck ของเยอรมันเคยกล่าวไว้ว่า “การเมืองไม่ใช่ศาสตร์…แต่คือศิลปะ” ศิลปะของ Bismarck น่าจะหมายถึงศิลปะของรัฐบาล นั้นคือ การควบคุมสังคมผ่านการสร้างและบังคับใช้การตัดสินใจรวมหมู่  นี้อาจจะเป็นลักษณะของความหมายของการเมืองแบบดั้งเดิม(classic definition) ที่ใช้มาตั้งแต่ในยุคกรีก

คำว่า politics มาจากคำว่า polis ซึ่งหมายถึง นครรัฐ  สังคมกรีกในยุดโบราณแบ่งออกเป็นนครรัฐย่อย ๆ เป็นอิสระต่อกัน  โดยในแต่ละนครรัฐก็จะมีรูปแบบของรัฐบาลที่แตกต่างกันออกไป นครรัฐที่ใหญ่และมีอิทธิพลที่สุดคือ เอเธนส์(Athens) ซึ่งมักจะได้รับการยกย่องว่าต้นกำเนิดรัฐบาลประชาธิปไตย   ดังนั้น อาจจะสรุปได้ว่า การเมือง(politics)ก็คือกิจกรรมของนครรัฐ(polis) หรือพูดอีกอย่างก็คือ อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับนครรัฐ  ซึ่งในปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็น อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับรัฐ(state)  การมองแบบนี้เองที่ทำให้เวลาที่คนพูดว่า “อยู่ในการเมือง”ก็เมื่อเขามีตำแหน่งในส่วนของรัฐ หรือการบอกว่า “เข้าไปสู่การเมือง” เมื่อเขากำลังหาวิธีการไปมีตำแหน่งในรัฐ  ซึ่งมีนักวิชาการไม่น้อยสนับสนุนความหมายแบบนี้

การมองว่าการเมืองคืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับรัฐ ถือเป็นการมองวิธีการศึกษาแบบดั้งเดิม(traditional view of the discipline)  ซึ่งจะมีแนวโน้มที่จะไปเน้นหนักที่ตัวบุคคลและเครื่องมือของรัฐเป็นหลัก    การศึกษาก็จะศึกษารัฐบาลและการใช้อำนาจหน้าที่  มุมมองนี้ถูกทำให้มีความสำคัญมากขึ้นโดยงานของนักรัฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่ง คือ David Easton โดยนิยามการเมืองว่า “การจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าโดยอำนาจที่ชอบธรรม – the authoritative allocation of values”  Easton เสนอว่า การเมืองจะนำกระบวนการต่าง ๆ ผ่านรัฐบาลที่จะตอบสนองแรงกดดันจากสังคมที่ใหญ่กว่า โดยจะออกมาในรูปแบบของการจัดสรรผลประโยชน์, ให้รางวัลและลงโทษ “สิ่งที่มีคุณค่าที่ถูกจัดสรรโดยอำนาจที่ชอบธรรม” จะได้รับการยอมรับจากสังคม และถือเป็นส่วนเชื่อมโยงพลเมืองทั้งหมด  อาจจะสรุปได้ว่า การเมืองก่อรูปได้โดย “นโยบาย” กล่าวคือ การตัดสินใจที่เป็นทางการหรือถูกต้องชอบธรรมจะเป็นตัวกำหนดแบบแผนการกระทำต่าง ๆ ในสังคม

สิ่งที่มาโต้แย้งความหมายของ “การเมือง” แบบนี้คือ จำกัดมุมมองที่มีต่อการเมืองเป็นอย่างมาก  มองเพียงว่าการเมืองจะดำรงอยู่ในสังคมการเมือง(polity)(ระบบขององค์กรทางสังคมต่าง ๆ ที่อาศัยเครื่องมือของรัฐบาล)เท่านั้น  การเมืองจะทำในเฉพาะห้องประชุมของคณะรัฐมนตรี, ที่ประชุมของสภานิติบัญญัติ, หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล ฯลฯ ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่อย่างจำกัดและเป็นไปเฉพาะกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะนักการเมือง, ข้าราชการ และนักล๊อบบี้  ทำให้มุมมองนี้เห็นว่า คน, สถาบัน, กิจกรรมทางสังคมส่วนใหญ่อยู่นอกการเมือง  เช่น องค์กรธุรกิจ, โรงเรียนและสถาบันการศึกษาอื่น ๆ , กลุ่มชุมชน, ครอบครัว ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ไม่เกี่ยวกับการเมือง(nonpolitical)เพราะว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับการนำประเทศ

นอกจากนี้ การมองการเมืองที่เน้นกิจกรรมของรัฐยังเพิกเฉยต่ออิทธิพลของกิจกรรมระหว่างประเทศที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นมรดกจากยุคที่รัฐชาติยังพอจะมีความอิสระในสถานการณ์โลกอยู่บ้าง

ปัญหาอีกประการคือ การที่รู้กันอยู่แล้วว่า ในปัจจุบัน การจัดการสังคมที่มีความสลับซับซ้อน ไม่สามารถทำได้โดยรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวหากแต่ยังมีภาคสาธารณะและเอกชนเข้ามาร่วมจัดการด้วย ซึ่งสะท้อนออกมาในแนวคิดที่เปลี่ยน government เป็น governance

มุมมองนี้ส่วนหนึ่งก็จะเน้นไปที่พรรคการเมืองด้วย กล่าวคือ จำกัดขอบเขตของการเมืองอยู่ที่ตัวแสดงที่มีแรงจูงใจจากอุดมการณ์-ความเชื่อ และผู้ที่ต้องการยกระดับเป็นสมาชิกองค์กรที่เป็นทางการต่าง ๆ โดยเฉพาะพรรคการเมือง  ดังนั้น มุมมองนี้จึงมองนักการเมืองว่าเป็นการเมือง ขณะที่ข้าราชการไม่เป็นการเมืองตราบเท่าที่วางตัวเป็นกลางและทำตามหน้าที่ของตนเท่านั้น ซึ่งหมายรวมถึงฝ่ายตุลาการ ที่จะไม่เป็นการเมืองตราบเท่าที่ตัดสินตามกฎหมายและอาศัยพยานหลักฐาน แต่จะกลายเป็นการเมืองขึ้นมาได้หากตัดสินเพราะได้รับอิทธิพลจากบุคคลอื่นหรือตัดสินแบบเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

มุมมองดังกล่าวข้างต้นช่วยอธิบายว่าทำไมการเมืองจึงถูกมองในแง่ลบ เพราะการที่การเมืองเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของนักการเมือง นักการเมืองมักจะถูกมองว่าเป็นพวกตลบแตลงมุ่งหาอำนาจโดยใช้โวหารเกี่ยวกับการบริการสาธารณะและอุดมการณ์เพื่อชักจูงผู้อื่น และปิดบังความทะเยอทะยานของตัวเอง

ในโลกปัจจุบัน ทัศนคติดังกล่าวกลายเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะเมื่อสื่อมวลชนสามารถเปิดเผยการคอร์รัปชั่น(ได้เป็นครั้งเป็นคราว) ยิ่งส่งเสริมปรากฎการณ์ต่อต้านการเมือง(anti-politics)เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

การปฏิเสธชีวิตทางการเมืองดังกล่าวมาจากพื้นฐานที่มองว่าการเมืองคือ การทำเพื่อตัวเอง, ตีสองหน้า และการกระทำที่ไม่มีอุดมการณ์ ซึ่งปรากฎออกมาในการใช้คำเช่น ตำแหน่งทางการเมือง(office politics), พวกการเมือง(politicking)  เราอาจจะสรุปได้ว่า ภาพของการเมืองดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากมาคิอาเวลลี ผู้เขียน The Prince ซึ่งบรรยายรูปแบบการเมืองที่ค่อนข้างสมจริงเพื่อให้ผู้นำเอาไปใช้จริงทั้งรูปแบบฉลาดแกมโกง, เหี้ยม และบังคับ

การมองการเมืองในแง่ลบ ส่วนหนึ่งก็มาจากมุมมองแบบเสรีนิยม คือ การมองแบบปัจเจกบุคคลที่เน้นประโยชน์ของตัวเอง   โดยมองว่า อำนาจทางการเมืองคือการคอร์รัปชั่นเพราะอำนาจจะกระตุ้นให้ผู้มีอำนาจใช้สถานะของตัวเองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว รวมถึงเอามาจากคนอื่นด้วย  ประโยชคที่นำมาอ้างกันบ่อย ๆ คือ คำพูดของ Lord Acton ที่ว่า “อำนาจมีแนวโน้มที่จะฉ้อฉล อำนาจสมบูรณ์ฉ้อฉลแน่นอน – power corrupts, and absolute power corrupts absolutely”

แต่กระนั้นผู้ที่มีมุมมองดังกล่าวก็ไม่ได้บอกว่ากิจกรรมทางการเมืองแบบนี้จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือเป็นอย่างนี้ไปตลอด หรือการที่จะต้องอยู่กับนักการเมืองขี้โกงเสมอ นอกจากนี้ หากเราพิจารณาให้ดีแล้ว หากไม่มีการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่า สังคมอาจจแตกสลายและเกิดสงครามกลางเมืองได้ง่าย ๆ (ที่แนวสัญญาประชาคมมักอ้างบ่อย ๆ ) แม้ภาระดังกล่าวจะไม่สามารถกำจัดนักการเมืองหรือนำการเมืองไปสู่เป้าหมายได้ แต่การเมืองก็ถูกกำหนดอยู่ในกรอบของการตรวจสอบและควบคุมที่พอจะทำให้การใช้อำนาจของรัฐบาลไม่เป็นไปในทางที่ผิด

การเมือง คือ กิจกรรมสาธารณะ

มุมมองนี้กว้างกว่ามุมมองแรก โดยวางอยู่บนพื้นฐานความคิด “ชีวิตสาธารณะ(public life)” หรือ “กิจกรรมสาธารณะ(public affair)” การจะแบ่งว่าอะไรคือ การเมือง(political) หรือไม่ใช่การเมือง(nonpolitical) สามารถทำได้โดยการดูว่าอยู่ในส่วนที่เป็นสาธารณะ(public sphere of life)หรือว่าอยู่ในชีวิตส่วนตัว(private sphere)

จุดเริ่มของมุมมองนี้เราอาจจะย้อนกลับไปในสมัยกรีก ในความคิดของอริสโตเติล ในหนังสือ Politics อริสโตเติลเสนอว่า มนุษย์คือสัตว์การเมืองโดยธรรมชาติ  ในชุมชนการเมืองเท่านั้นที่มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีได้  จากมุมมองดังกล่าว การเมืองคือกิจกรรมทางจริยธรรมที่ทำไปเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม จนทำให้อริสโตเติลเรียกว่าเป็นศาสตร์ขั้นสูง(master of sciene)

สิ่งที่สำคัญคือ อะไรเส้นแบ่งระหว่างสาธารณะกับส่วนตัว? ในอดีตจะแบ่งโดยรัฐกับประชาสังคม(state and civil society) สถาบันของรัฐ(หน่วยงานของรัฐบาลต่าง ๆ , ศาล, ตำรวจ, กองทัพ, ระบบความมั่นคงทางสังคมต่าง ๆ ฯลฯ) ถูกระบุว่าเป็นสาธารณะเพราะรับผิดชอบต่อชีวิตในชุมชนแบบรวมหมู่ รวมทั้งยังได้รับเงินจากส่วนรวมไม่ว่าจะเป็นภาษีหรือรูปแบบอื่น ๆ  ในทางตรงข้าม ประชาสังคม ซึ่ง เอดมัน เบิร์ค เรียกว่า หมู่ย่อย ๆ (little platoon) ที่ประกอบด้วย ครอบครัวและเครือญาติ, องค์กรธุรกิจส่วนตัว, สหภาพแรงงาน, ชมรม, ชุมชน ฯลฯ จัดว่าอยู่ในภาคส่วนตัวเพราะจัดตั้งและระดมเงินมาจากแต่ละปัจเจกบุคคลเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มมากกว่าจะเป็นของสังคมภายนอกที่ใหญ่โตกว่า ภายใต้การแบ่งแยกดังกล่าว การเมืองจะจำกัดอยู่ในกิจกรรมของรัฐและส่วนอื่น ๆ ในภาคสาธารณะ  ส่วนภาคส่วนตัวก็ไม่ถือว่าเป็นการเมือง ปัจเจกแต่ละคนสามารถจัดการชีวิตของตัวเองด้วยตัวเอง ทั้งเศรษฐกิจ,  สังคม, วัฒนธรรม, ศิลปะ ฯลฯ

ต่อมาการแบ่งแยกภาคส่วนทั้งสองมีความละเอียดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้มาจากการมองว่า แม้ในส่วนของประชาสังคมจะแยกออกจากรัฐแต่ขอบเขตของบางสถาบันในประชาสังคมใกล้เคียงกับที่มีในภาคส่วนสาธารณะ  กล่าวคือ มีลักษณะเป็นสถาบันเปิด(open institution)ในทางสาธารณะ การมองดังกล่าวทำให้ความเข้าใจการเมืองขยายขอบเขตมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนเศรษฐกิจที่มีลักษณะสาธารณะมากขึ้นเรื่อย ๆ  เช่น การเมืองพบเห็นได้ในที่ทำงาน  อย่างไรก็ดี แม้จะมีการมองว่าองค์กรธุรกิจ, ชุมชน, ชมรม, และสหภาพแรงงานจะเป็นสาธารณะ แต่ก็ยังจำกัดการมองว่าเป็นการเมืองอยู่  เพราะการเมืองตามมุมมองนี้จะต้องไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล(personal)  นักสตรีนิยมหลายคนจึงวิจารณ์ว่าการมองแบบนี้เป็นการหยุดการเมืองไว้ที่ประตูหน้าบ้าน ซึ่งไม่มีวันที่การเมืองจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว, ในชีวิตประจำวัน หรือในความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ตัวอย่าง คือ นักการเมืองจะแบ่งได้เลยว่า งานของเขาเป็นส่วนสาธารณะ  ส่วนชีวิตที่บ้านหรือชีวิตประจำวันอื่น ๆ เป็นภาคส่วนตัว หรือแม้ว่าบางคนจะโกงหุ้นส่วนหรือการเลี้ยงลูกไม่ดีก็ถือว่าเป็นภาคส่วนตัว ซึ่งไม่อาจจะถือว่ามีความสำคัญทางการเมือง(political significance) ดังนั้นเขาก็ยังคงสามารถดูแลกิจกรรมสาธารณะได้ต่อไป

มุมมองว่าการเมืองคือเรื่องสาธารณะดังกล่าวมีทั้งภาพลักษณ์ที่ดีและไม่ดี  ในแง่ดี อริสโตเติลเสนอว่าการเมืองถือเป็นกิจกรรมที่สูงส่งและมีปัญญาทั้งนี้เพราะลักษณะของความเป็นสาธารณะ  Hannah Adrent เสนอในหนังสือ Human Condition ว่า การเมืองเป็นรูปแบบของพฤติกรรมมนุษย์ที่สำคัญเพราะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองที่เสรีและเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงเป็นการให้ความหมายแก่ชีวิตและตัวตนของแต่ละคน  Jean-Jacques Rousseau กับ John Stuart Mill เสนอว่าการส่วนร่วมทางการเมืองดีในตัวมันเองในการหาข้อสรุปอย่างเท่าเทียม Rousseau เชื่อว่า การมีส่วนร่วมโดยตรงและต่อเนื่องในชีวิตทางการเมืองพลเมืองทั้งหมดเท่านั้นที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วมกันให้เกิดขึ้นในรัฐได้  หรือสิ่งที่เรียกว่า “เจตจำนงค์ร่วม(general will)” ส่วน Mill มองว่าการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะจะเกิดการเรียนรู้จนทำให้เกิดการยกระดับตัวตน, คุณธรรมและความรู้ของแต่ละปัจเจกบุคคล

ในทางตรงกันข้าม กิจกรรมสาธารณะก็ถูกมองในแง่ที่ว่า เป็นการแทรกแซงที่ไม่มีใครต้องการ  โดยเฉพาะนักทฤษฏีเสรีนิยมที่มักจะเสนอให้ประชาสังคมอยู่เหนือรัฐ  โดยเชื่อมั่นในพื้นฐานของภาคส่วนตัวที่สามารถมีทางเลือก, เสรีภาพส่วนบุคคล และความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล  ซึ่งเราอาจจะมองได้ว่ายิ่งทำให้ส่วนที่เป็นการเมืองเล็กลงไปอีก  เช่น การบอกว่าเอาการเมืองออกไปจากกิจกรรมส่วนตัวทั้งธุรกิจ, กีฬา และชีวิตครอบครัว คือ การมองว่าการเมืองส่วนใหญ่มักจะเข้ามาแทรกแซงว่าบริษัทควรจะต้องบริการอย่างไร, ใครควรจะต้องเล่นกีฬาและเล่นอย่างไร หรือจะเลี้ยงดูลูกอย่างไร

การเมือง คือ การประนีประนอมและฉันทามติ

แนวนี้มองการเมืองว่าเป็นหนทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยการประนีประนอม, การผูกไมตรี และการต่อรองมากกว่าการใช้กำลังหรืออำนาจอย่างโจ่งแจ้ง  อาจจะพูดได้ว่า การเมือง คือ ศิลปะแห่งความเป็นไปได้(art of the impossible) ความหมายการเมืองในมุมมองนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เช่น การแก้ปัญหาหนึ่ง ๆ ด้วยวิธีการเจรจาโดยสันติหรือการใช้ตัวกลางเราก็มักจะเรียกว่า การแก้ปัญหาโดยใช้ “การเมือง” ซึ่งจะแตกต่างกับการแก้ปัญหาโดยใช้ “กำลัง” หรือ “ทางทหาร”

อีกครั้งหนึ่งที่เราสามารถย้อนไปในยุคกรีก อริสโตเติลเสนอว่า สังคมการเมืองแบบ Polity เป็นระบอบการปกครองในอุดมคติของเขา เพราะเป็นการนำเอาประนีประนอมระหว่างอภิชนาธิปไตย(aristocracy) กับประชาธิปไตย(democracy)  ส่วนในยุคสมัยใหม่ Bernard Crick เสนอว่า

“การเมือง คือ กิจกรรมภายในหน่วยแห่งกฎเกณฑ์หนึ่งๆ ที่แต่ละกลุ่มอันมีผลประโยชน์แตกต่างกันออกไปจะเข้ามาประนีประนอมโดยแบ่งอำนาจตามลำดับความสำคัญของกลุ่มนั้น ๆ การกระทำดังกล่าวจะมาซึ่งสวัสดิการและการดำรงอยู่ของสังคมโดยรวม”

มุมมองดังกล่าวมองการเมืองในแบบที่อำนาจกระจัดกระจาย  Crick เสนอว่า เมื่อกลุ่มทางสังคมหรือกลุ่มผลประโยชน์เข้าถึงอำนาจมักจะเข้ามาประนีประนอมกัน เพราะไม่สามารถที่จะปะทะกันได้ตลอดไป เขาจึงสรุปต่อไปว่า “ การเมืองคือการแก้ปัญหาในแนวทางประนีประนอมมากกว่าความรุนแรงและบังคับ”

มุมมองแบบนี้เข้ากันกับแนวคิดเสรี-เหตุผลนิยม (liberal-rationalism) ที่เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการถกเถียงและพูดคุย รวมทั้ง ยังเชื่อว่าสังคมมีลักษณะฉันทามติมากกว่าความขัดแย้งที่ไม่สามารถลงรอยกันได้ พูดอีกอย่างได้ว่า ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่สามารถแก้ได้โดยไม่ต้องใช้การขู่เข็ญและความรุนแรง

ข้อวิจารณ์ที่มีต่อมุมมองแบบนี้(ของ Crick ด้วย) คือ การลำเอียงเข้าข้างประชาธิปไตยแบบพหุนิยมของตะวันตก ซึ่ง ตัว Crick เสนอว่า การเมือง คือ การเลือกตั้งและการแข่งขันโดยพรรค(ที่มักจะเป็นลักษณะของตะวันตกเป็นหลัก) ซึ่งไม่สามารถอธิบายรัฐที่มีพรรคเพียงพรรคเดียวปกครองประเทศหรือระบอบทหารได้

การมองการเมืองแบบนี้ถูกมองว่า มองโลกในแง่ดีจนเกิดเหตุ ทั้งนี้เพราะการเมืองไม่น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างอุดมคติดังกล่าวได้ (การประนีประนอมหมายถึงการที่ทุกฝ่ายจะต้องยอมรับ หมายความว่าจะไม่มีใครพอใจได้อย่าสมบูรณ์) แต่มีโอกาสที่จะมีทางเลือกอย่างอื่น แม้แต่การนองเลือดหรือวิธีการที่โหดร้ายก็ตาม   ในแง่นี้ อาจจะมองได้ว่า การเมืองเป็นทั้งพลังที่เป็นอารยะและกำลังจะเป็นอารยะ(civilized and civilizing force) ซึ่งก็จะเป็นสิ่งที่ดีมากถ้าผู้คนได้รับการกระตุ้นให้เคารพการเมืองในฐานะที่เป็นกิจกรรม(ตามมุมมองนี้) และเตรียมพร้อมที่จะเชื่อมโยงชีวิตทางการเมืองภายในชุมชนของตัวเอง แต่กระนั้นก็ดี Crick เห็นว่า การเมืองยังอยู่นิ่งและไม่มีกิจกรรมใด ๆ มากนัก ทั้งนี้ Crick เชื่อว่า มีหลักการที่เสนอว่า “ต้องการความแน่นอนไม่ว่าจะต้องจ่าย(หรือเสีย)ไปเท่าไร”  มาขัดขวาง  ซึ่งแสดงออกมาในหลายรูปแบบ เช่น การทำให้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ผิด, การไม่เชื่อประชาธิปไตย, การคลั่งชาติ และการเชื่อวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ความจริงเชิงวัตถุ(เท่านั้น)

การเมือง คือ อำนาจ

แนวนี้เป็นการมองการเมืองในความหมายค่อนข้างกว้างและก้าวหน้า(radical) มากกว่าแนวอื่นที่ผ่านมา  คือ นิยามการเมืองว่าไม่ใช่แค่ที่มีอยู่ในพื้นที่เฉพาะ(รัฐบาล, รัฐ หรือภาค“สาธารณะ”)  แต่มองว่าการเมืองอยู่ในทุกกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งทุกแง่มุมของมนุษย์

Adrian Leftwich เสนอใน What is Politic? The Activity and Its Study? ว่า “การเมืองเป็นหัวใจของทุกกิจกรรมทางสังคมแบบรวมหมู่ ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ อยู่ในภาคส่วนตัวหรือสาธารณะ รวมถึงมีอยู่ในทุกการรวมกลุ่ม, ทุกสถาบัน และทุกสังคมของมนุษย์” หากเชื่อตามแนวคิดดังกล่าว การเมืองจะปรากฏในปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในทุกระดับ ทั้งในครอบครัว หมู่เพื่อน ในระดับชาติ หรือแม้แต่ในระดับโลก  อย่างไรก็ดี ก็อาจจะเกิดคำถามที่ว่า แล้วอะไรที่ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมทางการเมือง? อะไรที่จะแยกการเมืองออกจากพฤติกรรมทางสังคมอื่น ๆ ?

ในความหมายอย่างกว้าง เมื่อการเมืองจะต้องคำนึงการผลิต การแจกจ่าย และการใช้ทรัพยากรเพื่อการดำรงอยู่ของสังคม  แก่นของการเมือง คือ อำนาจ  หรือความสามารถที่จะได้มาซึ่งเป้าหมายที่ต้องการผ่านวิธีการต่าง ๆ  แนวคิดนี้อาจจะถูกเสริมอย่างชัดเจนโดย Harold Lasswell ในงาน Politics : Who Gets What, When, How? โดยย้ำว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความหลากหลายและความขัดแย้ง ซึ่งวนเวียนอยู่กับปัญหาสำคัญ คือ ความขาดแคลนหรือการมีอยู่อย่างจำกัดของสิ่งที่มีคุณค่า กล่าวคือ ในขณะะที่มนุษย์มีความปรารถนาอย่างไม่จำกัด แต่ทรัพยากรไม่สามารถตอบสนองความต้องการนั้น ๆ ได้ อำนาจจึงกลายเป็นหนทางในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ

แนวคิดที่สนับสนุนมุมมองต่อการเมืองดังกล่าวมีทั้งจากแนวสตรีนิยมและมาร์กซิสม์  สตรีนิยมสมัยใหม่ (modern feminist) มีลักษณะที่จะแสดงว่ามีสิ่งที่เป็นการเมืองผ่านการมองรูปแบบผลประโยชน์ใหม่ ๆ (โดยเฉพาะมุมของสตรี) โดยเสนอว่า ความหมายของการเมืองแบบดั้งเดิมพยายามจะกันผู้หญิงออกจากขอบเขตทางการเมือง  ผู้หญิงมักจะถูกจำกัดให้อยู่แต่เฉพาะภาคส่วนตัว โดยเฉพาะในเรื่องครอบครัวและความรับผิดชอบงานบ้าน ฯลฯ  ตรงกันข้าม ผู้ชายในอดีตกลับมีบทบาทสำคัญในทางการเมือง และส่วนอื่น ๆ ในภาคสาธารณะ ในหมู่สตรีนิยมหัวก้าวหน้าได้โจมตีการแบ่งภาคสาธารณะกับส่วนตัวอย่างหนัก และเสนอว่า แม้เรื่องส่วนตัวก็เป็นการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน  เรื่องในครอบครัว ซึ่งทั้งหมดจะเจอกับการต่อสู้ทางการเมืองทั้งสิ้น  Kate Millett เสนอใน Sexual Politics ไว้ว่า การเมือง คือ “ความสัมพันธ์ของโครงสร้างทางอำนาจที่เกิดขึ้นในที่ที่คนกลุ่มหนึ่งถูกควบคุมโดยคนอีกกลุ่มหนึ่ง”  สิ่งที่กลุ่มสตรีนิยมมักจะเน้นคือ การเมืองในชีวิตประจำวัน (politics of everyday life) ความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา  พ่อแม่กับลูกเป็นการเมืองมากพอ ๆ กับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือรัฐบาลกับประชาชน

ในส่วนของมาร์กซิสม์ คำว่า “การเมือง” แบ่งออกเป็น 2 แบบ ในแบบแรก Marx ใช้ในความหมายแบบดั้งเดิมคือ เครื่องมือของรัฐ ใน the Commmunist Manifesto  (1848) Marx เสนอว่า อำนาจทางการเมือง คือ “เป็นอำนาจที่ถูกจัดตั้งโดยชนชั้นหนึ่งเพื่อกดขี่อีกชนชั้นหนึ่ง”  สำหรับ Marx แล้ว การเมืองจะเป็นเนื้อเดียวกับกฎหมายและวัฒนธรรม ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “โครงสร้างส่วนบน(superstructure)”  ซึ่งสะท้อนมาจากเศรษฐกิจหรือ “โครงสร้างส่วนล่างหรือโครงสร้างพื้นฐาน(base)” ซึ่งทั้งสองส่วนคือความเป็นจริงของชีวิตในสังคมมนุษย์   โดยทั้งสองส่วนไม่ได้แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดหากแต่โครงสร้างส่วนบนก่อรูปขึ้นจาก(หรือเป็นส่วนสะท้อน)ลักษณะของโครงสร้างพื้นฐาน

ในแบบที่สอง อำนาจทางการเมืองถูกมองว่ามีอยู่ในระบบชนชั้น  Lenin เสนอว่า “การเมือง คือ รูปแบบทางเศรษฐกิจที่มีการรวมศูนย์อย่างถึงที่สุด” มุมมองนี้ต่อต้านการมองการเมืองว่าเป็นเพียงเรื่องของรัฐหรืออยู่ในภาคสาธารณะอย่างแคบ มาร์กซิสม์เชื่อว่า “เศรษฐกิจ คือ การเมือง”  ดังนั้น ในส่วนประชาสังคม(ที่แนวก่อนหน้านี้อาจจะมองว่าไม่ใช่การเมือง) ถือว่าเป็นส่วนหัวใจของการเมืองเพราะจะมีการต่อสู้ทางชนชั้นอยู่ด้วย ซึ่งไม่จำกัดว่ามีอยู่ในเฉพาะรัฐเท่านั้น

มุมมองนี้มองการเมืองไปในทางลบ การเมืองถูกมองว่าเป็นเรื่องของการกดขี่และปราบปราม  สตรีนิยมก้าวหน้าเชื่อว่าสังคมเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่(patriarchal) ทำให้ผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่าง และขึ้นต่ออำนาจของผู้ชาย  ส่วนมาร์กซิสม์เสนอว่า ลักษณะการเมืองในสังคมทุนนิยมวางอยู่บนการขูดรีดของชนชั้นนายทุนที่มีต่อชนชั้นกรรมาชีพ   อย่างไรก็ดี การเมืองก็ถูกมองว่าเป็นหนทางที่ท้าทายความไม่ยุติธรรมและการครอบงำได้เช่นกัน  เช่น Marx ทำนายว่าการกดขี่ทางชนชั้นจะถูกโค่นล้มลงโดยการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพ(proletarian revolution)  ในขณะที่สตรีนิยมก้าวหน้าก็เสนอคล้าย ๆ กันว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพศจะเปลี่ยนแปลงได้โดยการปฏิวัติเรื่องเพศ(sexual revolution)

อย่างไรก็ดี แม้จะมองการเมืองว่าเป็นเรื่องของอำนาจและการครอบงำ แต่ความมุ่งหวังของแนวนี้คือต้องการเปลี่ยนลักษณะดังกล่าว ในส่วนของสตรีนิยมก็มุ่งหวังให้การเมืองที่กำหนดโดยเพศ(sexual politics) สิ้นสุดลงและเกิดสังคมที่เพศไม่มีความสำคัญ(a nonsexist society) ซึ่งผู้คนจะเห็นคุณค่าของคนที่ความสามารถมากกว่าเพศ ส่วนมาร์กซิสม์ก็เชื่อว่าการเมืองแบบชนชั้นจะสิ้นสุดลงหากสามารถสร้างสังคมที่ไร้ชนชั้น(a classless communist society)ได้  และรัฐจะสลายตัวไป(withering away) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงความหมายของการเมืองแบบดั้งเดิมก็จะหายไปด้วย

การศึกษาการเมือง(studying politics)

แนวทางในการศึกษาการเมือง(Approach to the study of politics)

ความไม่ลงรอยกันในการทำความเข้าใจว่ากิจกรรมสังคมแบบไหนเป็นการเมืองหรือไม่เป็นการเมืองก็เกิดขึ้นพอ ๆ กับการไม่ลงรอยในวิธีการศึกษาการเมืองในทางวิชาการ  แนวทางการศึกษาการเมืองที่มีตั้งแต่ยุคโบราณ อยู่ในลักษณะของการศึกษาเชิงปรัชญา ประวัติศาสตร์ และกฎหมาย   เป้าหมายก็เพื่อแสวงหาหลักการที่สังคมของมนุษย์ควรจะมี  อย่างไรก็ดีช่วงท้ายศตวรรษที่ 19  การศึกษาเชิงปรัชญาถูกแทนที่ด้วยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์  จุดเปลี่ยนที่สำคัญอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 50 และ 60 ที่เริ่มปฏิเสธวิธีการศึกษาแบบดั้งเดิมโดยมองว่าเป็นเพียงอภิปรัชญาที่ไม่มีประโยชน์อะไร(meaningless metaphysic) อย่างไรก็ดี  การใช้วิธีการแบบวิทยาศาสตร์แบบเคร่งครัดในการศึกษาการเมืองก็เริ่มเสื่อม  รวมถึงเริ่มมีการรื้อฟื้นแนวค่านิยมทางการเมือง(political values) กับทฤษฏีแนวปทัสถาน(normative theories)ที่ไม่เคยเสื่อมกลับมาใหม่   ทำให้ในปัจจุบันมีแนวทางในการศึกษาการเมืองที่หลากหลาย และน่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งในส่วนของแนวทางเชิงทฤษฏีและสำนักวิเคราะห์ต่าง ๆ

แนวทางปรัชญา(The Philosophical Tradition)

จุดเริ่มของแนวนี้อยู่ในยุคกรีกโบราณ แนวปรัชญาการเมือง(political philosophy)นี้สนใจในการตั้งคำถามเกี่ยวกับจริยธรรม, สิ่งที่ควรจะเป็น และบรรทัดฐาน(ปทัสถาน)ในสังคม  สิ่งที่แนวนี้สนใจคือ อะไร “ควร(should)”จะเป็น หรือบ้างครั้ง อะไรที่จะ “ต้อง(must)” เป็น มากกว่าที่จะสนใจศึกษาว่า อะไร “เป็น(is)” อย่างไร

Plato กับ Aristotle ถูกยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างวิธีการศึกษาแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งวิธีแบบนี้อาจจะพบได้ในงานของ St. Augustine(354-430) และ St. Aquinas(1225-1274) ตัวอย่างเช่น รูปแบบของ Plato คือ ความพยายามที่จะบรรยายธรรมชาติขิงสังคมอุดมคติ โดยเสนอให้มีการปกครองโดยราชาปราชญ์(philosopher king)โดยออกจะเป็นแนวเผด็จการที่นุ่มนวล

งานศึกษาบางชิ้นก็ถือว่าวางอยู่บนวิธีการ “ดั้งเดิม”นี้ โดยจะเน้นไปที่การวิเคราะห์ความคิดหรือคติพจน์ที่มีลักษณะเป็นความคิดทางการเมือง ส่วนใหญ่ก็จะดูประวัติความคิดทางการเมืองโดยเฉพาะนักคิดที่มีชื่อเสียง โดยผ่านการศึกษา-ตีความงานฉบับจริงอย่างละเอียด  ทำให้รูปแบบของการศึกษาตามแนวนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อเขียนเป็นหลัก(literary analysis) โดยสนใจว่านักคิดคนนี้เสนออะไร, เขาพัฒนาความคิดนั้น ๆ อย่างไร, ควรจะตัดสินสิ่งที่นักคิดนั้น ๆ เสนอ แบบไหน, ขณะที่นักคิดทำงาน นักคิดคนนั้นอยู่ในบริบททางวิชาการอย่างไร  เนื่องแนวทางนี้จะต้องทำผ่านการวิพากษ์-วิเคราะห์และด้วยความระมัดระวัง  งานจึงไม่ออกมาเป็นในเชิงวัตถุวิสัย(objective) เพราะทั้งหมดเกิดจากคำถามเชิงปทัสถาน(ที่ผู้ศึกษาต้องตอบด้วยตัวเองตลอดเวลา) เช่น ทำไมต้องเชื่อฟังรัฐ? สิ่งที่เป็นผลประโยชน์จะแบ่งสรรอย่างไร? เสรีภาพส่วนบุคคลควรจะมีข้อจำกัดแค่ไหน?

แนวทางประจักษ์นิยม(The Empirical Tradition)

แม้จะไม่เด่นเท่าแนวแรก  แนวทางอรรถาธิบายหรือประจักษ์นิยมนี้ก็สามารถย้อนไปในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มมีความคิดทางการเมืองเช่นกัน เช่น ความพยายามของอริสโตเติลในการจัดประเภทของรูปแบบการปกครอง  หรืองานของมาคิอาเวลลีที่เสนอลักษณะของผู้ปกครอง  หรือในงานของ Montesquieu ที่เสนอทฤษฏีทางสังคมวิทยาเกี่ยวกับรัฐบาลและกฎหมาย  หลายครั้งงานเขียนในแนวนี้ก็ถูกเรียกว่างานประเภทการเมืองเปรียบเทียบ(comparative government) ซึ่งเน้นไปในการศึกษาสถาบันมากขึ้น(institutional approach) ในอเมริกาและสหราชอาณาจักร  แนวทางแบบนี้พัฒนาจนกลายเป็นแนวทางหลักในการศึกษาการเมือง  การวิเคราะห์การเมืองของแนวประจักษ์นิยมนี้จะพยายามเสนอความเป็นจริงทางการเมืองโดยปราศจากอคติและมองเพียงบางส่วน   โดยใช้วิธีการอรรถาธิบาย(descriptive) ทั้งในการวิเคราะห์และอธิบาย(จากสภาพที่ปรากฏขึ้นจริง) ซึ่งต่างจากแนวปทัสถานที่นิยมใช้ prescriptive หรือการตัดสิน(เชิงคุณค่า)ไปเลย รวมทั้ง ให้ความเห็นไปด้วยว่าควรจะเป็นอย่างนี้หรือไม่ควรเป็นอย่างนี้ไปด้วย

แนวประจักษ์นิยมแพร่หลายในช่วงศตวรรษที่ 17 ผ่านงานของ John Locke กับ David Hume หลักของประจักษ์นิยม คือ ประสบการณ์เป็นพื้นฐานของความรู้ ดังนั้น ทุกสมมติฐานและทฤษฏีจะต้องได้รับการทดสอบโดยกระบวนการสังเกตการณ์  ในศตวรรษที่ 19 พื้นฐานแนวคิดดังกล่าวพัฒนามาเป็นแนวปฏิฐานนิยม(positivism) มีนักคิดคนสำคัญคือ August Comte(1798-1857) โดยเสนอว่า สังคมศาสตร์รวมทั้งการค้นคว้าเชิงปรัชญาอื่น ๆ รับเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้อย่างเคร่งครัด  ทั้งนี้มาจากการที่วิทยาศาสตร์ถูกเชื่อว่าเป็นหนทางเดียวที่สามารถเปิดเผยความจริงได้ ดังนั้น การต่อต้านวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาการเมืองจึงเป็นไปไม่ได้

แนววิทยาศาสตร์(The Scientific Tradition)

นักทฤษฏีที่พยายามจะอธิบายการเมืองแบบวิทยาศาสตร์คนแรก ๆ เช่น Karl Marx  โดยเรียกหลักการของเขาว่า วัตถุนิยมประวัติศาสตร์(historical materialism) ซึ่งเป็นความพยายามจะค้นหาสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์  ทำให้ Marx พยายามมที่จะสร้าง “กฎ” ที่จะใช้ทำนาย(และอธิบาย)สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่ง “กฏ” ในที่นี่เหมือนกันกับ “กฏ” ที่ใช้พิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ในวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

กระแสความนิยมในการวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นในศตวรรษที่ 19 จนกลายเป็นกระแสหลัก ในทศวรรษที่ 1870 วิชา “รัฐศาสตร์(political science)” เริ่มเรียนในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด, ปารีส และโคลัมเบีย ในปี 1906 วารสาร American Political Science Review ก็ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก  อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาที่วิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือในทศวรรษที่ 50 และ 60  โดยเฉพาะในอเมริกา ซึ่งรูปแบบที่ถูกนำมาใช้วิเคราะห์มากที่สุดคือ พฤติกรรมศาสตร์(behavioralism)  ในช่วงแรก การศึกษาการเมืองก็รับเอาวิธีการวิทยาศาสตร์มาใช้ โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่เคยอยู่การศึกษามาก่อนคือ ข้อมูลเชิงวัตถุวิสัยและเชิงปริมาณ  ซึ่งจะนำมาทดสอบสมมติฐานที่ได้ตั้งเอาไว้  ผู้ที่สนใจวิเคราะห์การเมืองเช่น David Easton  เสนอว่า การศึกษาการเมืองสามารถรับเอาระเบียบวิธีการศึกษาของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาใช้ได้ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มจำนวนของการศึกษาโดยเฉพาะประเด็นที่เหมาะกับการวิจัยเชิงปริมาณ เช่น พฤติกรรมการเลือกตั้ง, พฤติกรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติ  หรือพฤติกรรมของนักการเมืองท้องถิ่น

แนวพฤติกรรมศาสตร์เริ่มถูกกดดันในช่วงทศวรรษที่ 60 ข้อวิจารณ์แรกคือ แนวพฤติกรรมศาสตร์จำกัดขอบเขตการวิเคราะห์การเมืองอย่างมาก กล่าวคือ จำกัดอยู่แต่เฉพาะที่สังเกตได้เท่านั้น แม้จะมีการวิเคราะห์เชิงพฤติกรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่องและบางส่วนมีความสำคัญ เช่น  การศึกษาการเลือกตั้ง แต่การเลือกมองเฉพาะข้อมูลเชองปริมาณได้วิธีการศึกษาการเมืองให้แคบลงอย่างมาก  และสิ่งที่ร้ายไปกว่านั้น มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้นักรัฐศาสตร์หันหลังให้กับแนวทางปทัศสถานที่สนใจแนวคิดทางการเมือง  ความคิดต่าง ๆ เช่น “เสรีภาพ”, “ความเท่าเทียม”, “ความยุติธรรม” และ “สิทธิ” บางครั้งก็ถูกเมินเฉยเพราะไม่สามารถจำกัดความหรือระบุเฉพาะไปได้ในเชิงประจักษ์  ความไม่พอใจต่อแนวพฤติกรรมนิยมเริ่มในทศวรรษที่ 1970 โดยเริ่มจากการรื้อฟื้นแนวปทัสถาน เช่น งานของ John Rawls และ Robert Nozick

ความน่าเชื่อถือของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในแนวพฤติกรรมศาสตร์เริ่มถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะการอ้างว่าการศึกษาตามแนวพฤติกรรมศาสตร์เป็นวัตถุวิสัยและปราศจากอคติ กล่าวคือ ไม่ได้มีการเจือปนความเชื่อเชิงจริยธรรมหรือปทัสถานมาแม้แต่น้อย  ดังนั้น เมื่อศึกษาก็จะเน้นไปที่สิ่งที่สามารถสังเกตเท่านั้น ซึ่งยากที่จะทำอะไรได้มากกว่าแค่บรรยายสิ่งที่ปรากฎต่อหน้า คล้ายกับเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับสภาวะเดิม ๆ (status quo) ซึ่งบางคนถือว่าเป็นอคติแบบอนุรักษนิยม เช่น “ประชาธิปไตย” เมื่อถูกมองว่าเป็นสิ่งที่สังเกตได้ แทนที่จะกมายถึงการปกครองตัวเองของประชาชน อาจจะกลับกลายว่ากมายถึงการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำในการได้มาซึ่งอำนาจผ่านการเลือกโดยประชาชน หรือกล่าวอีกอย่าง ประชาธิปไตยหมายถึงระบอบประชาธิปไตยที่ปรากฏในโลกตะวันตกเท่านั้น

การพัฒนาแนวทางการศึกษาในปัจจุบัน

ในปัจจุบันแนวทางการศึกษาการเมืองหรือที่เรียกว่าทฤษฏีรัฐศาสตร์(political theory) ซึ่งปัจจุบันมีมากมาย เช่น เศรษฐศาสตร์การเมือง, public-choice Theory, rational-choice theory  ซึ่งทฤษฏีดังกล่าวข้างต้นได้รับอิทธิพลมาจากทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ที่มีการสร้างโมเดลตามกฎต่าง ๆ โดยมักจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับพฤติกรรมการแสวงหาผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลโดยใช้เหตุผลกำกับ  ซึ่งแนวนี้แพร่หลายเป็นอย่างมากในอเมริกา โดยเฉพาะสำนักเวอร์จิเนีย(Virginia School)  อีกทฤษฏีดังกล่าวช่วยในการวิเคราะห์บทบาทของผู้เลือกตั้ง, นักล๊อบบี้, ข้าราชการ และนักการเมือง นอกจากนี้ยังรวมถึงพฤติกรรมของรัฐในระบบโลก  คือ institutional public-choice theory  นักวิชาการที่ใช้แนวทางนี้ เช่น Anthony Sowns, Mancur Olson และ William Niskanen ซึ่งมีงานเกี่ยวกับหลาย ๆ ประเด็น เช่น การแข่งขันของพรรคการเมือง, พฤติกรรมของกลุ่มผลประโยชน์, อิทธิพลของนโยบายที่มีต่อพฤติกรรมของข้าราชการ อีกแนวหนึ่งก็คือ ทฤษฏีเกมส์(game theory) ซึ่งพัฒนามาจากคณิตศาสตร์มากกว่าเศรษฐศาสตร์   โดยจะใช้หลักการหนึ่งทำนายพฤติกรรมของมนุษย์ที่ต้องการทราบ ตัวอย่างที่มีชื่อเสียง คือ ทางเลือกของนักโทษ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของแนวทาง rational-choice ก็ไม่สามารถใช้วิเคราะห์การเมืองได้ในทุกประเด็น แม้ผู้ที่สนับสนุนแนวนี้จะเชื่อว่ามันสำคัญในการวิเคราะห์ปรากฎการณ์ต่าง ๆ แต่จะมีผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการสรุปของแนวดังกล่าว กล่าวคือ แนวดังกล่าวประเมินการใช้เหตุผลของมนุษย์สูงเกินไปโดยละเลยความจริงเกี่ยวกับขีดจำกัดของปัญญาของมนุษย์เกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมาย, การตัดสินใจ และการใช้องค์ความร็ที่ถูกต้องแม่นยำ  ยิ่งไปกว่านั้น แนวดังกล่าวได้สร้างโมเดลในส่วนของปัจเจกชนซึ่งเป็นนามธรรมมากไป โดยละเลยปัจจัยทางสังคมและประวัติศาสตร์ เพราะความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคมมากมาย ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเฉพาะตัวใครตัวมันเท่านั้น  ดังนั้น แนวทางต่าง ๆ จึงได้ถูกนำมาใช้ในการเป็นวิธีการศึกษาการเมืองในทางวิชาการ

ปัจจุบันการวิเคราะห์ทางการเมืองจึงมีอย่างมากมายหลากหลาย ไม่ได้มีแต่แนวทางปทัสถาน, สถาบัน, พฤติกรรมศาสตร์ หรือ rational choice อีกต่อไปแต่มีความคิดและรูปแบบใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่ม เช่น แนวสตรีนิยม(โดยเฉพาะหลังทศวรรษที่ 1970) ซึ่งเสนอเกี่ยวกับการตระหนักรู้ถึงความแตกต่างกันของเพศและโครงสร้างสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ หรือแนวสถาบันนิยมใหม่ (new institutionalism) ที่เพิ่มความสนใจจากเพียงรูปแบบ, โครงสร้างของสถาบันต่าง ๆ ไปสู่การบอกในบริบทที่กว้างกว่าเดิม มองพฤติกรรมและผลลัพธ์นโยบายของตัวสถาบันอย่างรอบด้าน หรือแนวการเมืองสีเขียว(green politics) ที่ท้าทายความคิดที่ว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลาง(anthropocentric) โดยพยายามสร้างทฤษฏีที่จะสามารถช่วยให้เข้าใจการเมืองและสังคมแบบองค์รวม(holistic)ให้ได้ อีกตัวอย่างคือ แนวทฤษฏีวิพากษ์ โดยมีสำนักที่สำคัญคือ สำนักแฟรงเฟิร์ต(the Frankfurt School) ตั้งขึ้นในปี 1923  ถือว่าอยู่ในแนวนีโอมาร์กซิสม์(neo-marxism) โดยได้ขยายการวิพากษ์ประเด็นที่ได้มาจากผู้มีชื่อเสียง เช่น ซิกมันด์ ฟรอยด์, แมกซ์ เวบเบอร์ ให้ครอบคลุมทุกส่วนของสังคม อีกแนวหนึ่ง คือ แนวโพสต์โมเดิร์น(postmodernism) แนวนี้จะตั้งคำถามต่อการที่มีความจริงสมบูรณ์หนึ่งเดียว และพยายามสร้างและอธิบาย “วาทกรรม” ในประเด็นต่าง

ในปัจจุบัน  แนวทางประเภทปรัชญาการเมืองกับที่ใช้วิทยาศาสตร์ในการศึกษาการเมืองดูเหมือนจะแยกห่างจากกันน้อยลง รวมถึง ภาพที่ดูเหมือนเป็นคู่แข่งกัน ต่างฝ่ายต่างยอมรับเกี่ยวกับความแตกต่างในการหาความรู้เกี่ยวกับการเมือง

เราสามารถศึกษาการเมืองในแบบวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่(Can the study of politics be scientific?)

แม้จะมีการยอมรับว่าการศึกษาการเมืองสามารถทำโดยวิธีการทางวิทยาศสตร์ได้เนื่องจากมีความชัดเจนและวิเคราะห์ได้ดี  แต่ก็มีบ้างพวกที่ถึงกับเสนอว่าใช้วิธีที่วิทยาศาสตร์ธรรมชาติใช้กันไปเลย  ข้อเสนอเกี่ยวกับวิธีการศึกษาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากนักทฤษฏีแนวมาร์กซิสม์กับแนวปฏิฐานนิยม จนเกิดการปฏิวัติพฤติกรรมศาสตร์(behavioral revolution)ในช่วงทศวรรษที่ 1950 ซึ่งทำให้วิทยาศาสตร์กับการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา  โดยเชื่อว่าจะเป็นกลางและจะได้วิธีการที่แยกความ “จริง” ออกจากความ “เท็จ” ได้ ความรู้ที่ได้จะเป็นความรู้การเมืองที่เป็นวัตถุวิสัย(objective) วิธีการสำคัญคือการแยก “ข้อเท็จจริง(fact)” ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ออกจาก “ค่านิยม(values)” ที่เป็นความเชื่อปทัสถานหรือจริยธรรม  โดยเชื่อว่าในส่วนของข้อเท็จจริงสามารถแสดงสิ่งที่น่าเชื่อถือ, ถาวร และพิสูจน์ได้  ตรงกันข้ามกับ “ค่านิยม”ที่เป็นอัตวิสัย เพราะเต็มไปด้วยความเห็น

อย่างไรก็ดี ความพยายามสร้างศาสตร์แห่งการเมืองต้องเจอกับคำถามหลัก 3 ข้อ ข้อแรก จะมีปัญหากับข้อมูล  ทั้งนี้มนุษย์ไม่ใช่หนูทดลองในห้องทดลองหรือเซลล์ที่สังเกตได้จากกล้องจุลทรรศน์ มนุษย์ยากที่จะเข้าถึงและไม่สามารถจะทดลองได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์นั้นเป็นไปได้อย่างจำกัดและทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น  เมื่อไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้วก็ไม่น่าเชื่อว่าจะได้คำอธิบายที่ถูกต้อง ทางเดียวที่จะตัดปัญหาดังกล่าว คือ การเพิกเฉยต่อการเป็นประธาน(subject)ของสิ่งที่ศึกษา ซึ่งเรียกว่า determinism (หรือการกำหนดให้เป็น) ตัวอย่าง คือ แนว behaviorism (ตรงข้ามกับ behavioralism) ซึ่งเป็นสำนักทางจิตวิทยานำโดย John B. Watson(1978-1958) กับ B. F. Skinner(1904-90) โดยเชื่อว่า พฤติกรรมมนุษย์สามารถอธิบายได้จากหลักการปฏิกิริยาหรือการสะท้อนกลับ(reactions and reflexes) หรือ หลักการ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์(historical materialism)” ซึ่งเป็นหลักการหนึ่งของแนวมาร์กซิสม์ ที่ใช้กันมากในการสร้างคำอธิบายในยุคสหภาพโซเวียต

ข้อสอง  ปัญหาเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของค่านิยมที่แฝงอยู่  ความคิดที่ว่าโมเดลและทฤษฏีการเมืองที่ปลอดค่านิยม(value-free)เป็นเรื่องที่ยากเวลาที่จะทำจริง ๆ ทั้งนี้มาจากข้อเท็จจริงกับค่านิยมทับซ้อนกันอย่างใกล้ชิดจนยากที่แยกออกจากกันได้   และทฤษฏีส่วนใหญ่ก็ถูกสร้างขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์, สังคมของมนุษย์, บทบาทของรัฐ ฯลฯ มักจะแฝงไว้ด้วยลักษณะทางการเมืองและอุดมการณ์เสมอ  ตัวอย่างเช่น อคติเชิงค่านิยมมีอยู่ในทฤษฏีมากมายทั้งแนวพฤติกรรมศาสตร์, rational-choice, ทฤษฏีระบบ  หรือในแนวสตรีนิยมก็เห็นได้ชัดเกี่ยวกับการแบ่งแยกเรื่องเพศ

ข้อสาม  นิยายเรื่องความเป็นกลางของสังคมศาสตร์(social science) ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติอาจจะอ้างตัวได้ว่าศึกษาสิ่งที่เป็นวัตถุวิสัยและเป็นกลาง ไม่ได้มีการสันนิษฐาน(แบบคิดเอาเอง)เอาไว้ก่อนจะสรุปผลก่อนการศึกษา ซึ่งลักษณะดังกล่าวยากที่จะเป็นไปได้ในการศึกษาการเมือง  ทั้งนี้มาจากการเมืองเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างและหน้าที่ของสังคมที่ผู้คนอาศัยอยู่และเติบโตขึ้นมา  ภูมิหลังของครอบครัว, ประสบการณ์ทางสังคม, สถานะทางเศรษฐกิจ, ความรู้สึกส่วนตัว ฯลฯ ของแต่ละคนจะสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับการเมืองและโลกภายนอกไว้ก่อนเสมอ  ดังนั้น ความเป็นวัตถุวิสัยของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ยังคงเป็นไม่เป็นผลในการวิเคราะห์การเมืองอย่างสมบูรณ์แต่อาจจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาระเบียบวิธีการศึกษาได้บ้าง   บางทีสิ่งที่มารบกวนการสะสมองค์ความรู้ที่น่าเชื่อถืออาจจะมาจากความผิดพลาดในการมีอคติของพวกที่ชอบอ้างเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองมากกว่า

แนวคิด, โมเดล และทฤษฏี(concepts, models and theories)

ทั้ง 3 คือ เครื่องมือในการวิเคราะห์การเมือง ซึ่งต้องนำมาใช้อย่างรอบคอบ ในส่วนแรก แนวคิด คือ ความคิดทั่วไปเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยมักจะออกมาเป็นคำเดียวหรือวลีสั้น ๆ แต่จะไม่ใช้แน่คำนามหรือชื่อเรียกธรรมดา ๆ เช่น แนวคิดเกี่ยวกับแมว จะต้องมีองค์ประกอบที่ทำให้ความหมายของแมวมีลักษณะเฉพาะขึ้นมา เช่น “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขน”, “ตัวเล็ก”, “เชื่อง”, “ชอบจับหนู” ฯลฯ หรือ แนวคิดเกี่ยวกับ “ความเท่าเทียม(equality)” ซึ่งยิ่งจะต้องมีหลักการหรือแสดงออกถึงความคิด(idea)เป็นอย่างมาก ซึ่งแนวคิดของคำดังกล่าวจะไม่เหมือนกับแนวคิดที่ว่า นักวิ่ง ๆ เร็ว “เท่าเทียม” กับสถิติโลก หรือมรดกต้องยกให้พี่น้องอย่าง “เท่าเทียม” กัน อีกตัวอย่าง เช่น แนวคิด “presidency” ไม่ได้หมายถึงความเป็นประธาน(president)ทั่ว ๆ ไป หากจะเป็นความคิดเกี่ยวกับหัวหน้าขององค์กรฝ่ายบริหารของรัฐ

แล้วแนวคิดมีประโยชน์อะไร? แนวคิดเป็นเครื่องที่จะช่วยเราคิด, วิพากษ์วิจารณ์, โต้แย้ง, อธิบาย และวิเคราะห์  ทั้งนี้มาจากการที่เพียงแค่มองเห็นโลกไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความรู้เกี่ยวกับมันได้  ดังนั้นเราจำต้องจะต้องจำหัดความให้หับสิ่งต่าง ๆ หรือที่เราเรียกว่าสร้างแนวคิด(the construction of concept)ขึ้นมานั่นเอง  ตัวอย่างเช่น การจะบอกว่าแมวคืออะไรจะต้องสร้างแนวคิดว่าด้วยแมวขึ้นมาก่อน  แนวคิดจะช่วยเราในการจัดประเภทสิ่งต่างๆ โดยจะทำให้เรารู้ว่ามีรูปแบบหรือคุณสมบัติอะไรบ้างที่ใกล้เคียงกัน เช่น แมว ก็จะมีอยู่หลาย ๆ พันธุ์แต่ก็ยังคงเป็นสัตว์ที่เรียกว่าแมวอยู่ไม่ใช่อย่างอื่น ซึ่งในที่สุดจะทำให้เราเข้าใจได้อย่าง “ทั่วไป(general)” (เข้าใจกันได้ตรงกัน) ทั้งนี้มาจากการที่เราพิจารณาลึกไปสู่สิ่งที่เรากำลังสร้างแนวคิดซึ่งในที่สุดก็จะทำให้เราเข้าใจในสิ่งนั้นอย่างชัดเจนมากขึ้น  ซึ่งอาจจะไม่เป็นการกล่าวจนเกินไปว่า ความรู้เกี่ยวกับโลกของการเมืองถูกสร้างขึ้นผ่านการพัฒนาและการทบทวนแนวคิดนี่เอง ดังนั้น แนวคิดถือเป็นคลังความรู้ของมนุษย์

อย่างไรก็ดี แนวคิดเป็นสิ่งที่เอามาใช้ไม่ง่ายนัก  ประการแรก ความเป็นจริงทางการเมืองที่อยากจะเข้าใจกัน มักจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีความซับซ้อนสูง ดังนั้น จึงเป็นการยากที่สร้างแนวคิดที่จะอธิบายเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย”, “สิทธิมนุษยชน” หรือ “ทุนนิยม” ที่ชัดเจน-มั่นคงได้จากความคลุมเครือในโลกจริง  Max Weber พยายามจะเอาชนะปัญหาดังกล่าวโดยสร้าง “แบบอุดมคติ(ideal type)” ขึ้นมา โดยแนวคิดที่สร้างขึ้นมาจะคงไว้แต่ความคิดพื้นฐานที่จำเป็นและเป็นแก่นของประเด็นเท่านั้น แต่จะละทิ้งรายละเอียดที่ยังคลุมเครือหรือถูกตั้งคำถามเอาได้  อาจจะเรียกได้ว่าลดระดับความสำคัญหรือตัดทิ้งไปเลย เช่น แนวคิดเกี่ยวกับ “การปฎิวัติ(revolution)” อาจจะถูกทำให้เป็นแบบอุดมคติ โดยให้ความหมายว่า กระบวนการเปลี่ยนเปลี่ยนทางการเมืองในเชิงหลักการและมักจะใช้ความรุนแรง ซึ่งการใช้แนวคิดแบบนี้ จะทำให้มองว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 กับ การปฏิวัติในยุโรปตะวันออกในปี 1989-91 มีลักษณะเหมือนกัน อย่างไรก็ดี การใช้แนวคิดดังกล่าวจะต้องทำอย่างระมัดระวังเพราะอาจจะทำให้ไม่เข้าใจความแตกต่างที่สำคัญ เช่น ในที่นี้การปฏิวัติทั้งสองมีความแตกต่างกันในเรื่องอุดมการณ์และลักษณะทางสังคมในช่วงก่อนการปฏิวัติ  ด้วยเหตุนี้เอง จะเป็นการดีถ้ามองแนวคิดหรือแบบอุดมคติในเชิงว่ามันจะใช้ได้ดีกว่าหรือแย่กว่า มากกว่าจะมองว่ามันถูกต้องหรือผิดพลาดไปเลย

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอีกว่าแนวคิดทางการเมืองส่วนใหญ่มักจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงระหว่างกลุ่มอุดมการณ์ต่าง ๆ อยู่ แม้แต่แนวคิดเกี่ยวกับ “การเมือง” เองก็ตาม  กองกำลังอาจจะโต้เถียง, ต่อสู้ หรือทำสงครามโดยอาจจะอ้างเหตุผลต่างกันออกไป เช่น “ปกป้องเสรีภาพ”, รักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย” หรือ”ทำไปเพื่อความยุติธรรม” ปัญหาก็คือ คำว่า “เสรีภาพ”, “ประชาธิปไตย” และ”ยุติธรรม” ต่างเข้าใจกันไปคนละแบบ  คำถามก็คือ จะสร้าง “เสรีภาพ”, “ประชาธิปไตย” และ”ยุติธรรม”ที่แท้จริงขึ้นมาได้อย่างไร? คำตอบคือทำไม่ได้ ตัวอย่างก็คือ ความหมายของ “การเมือง” ข้างต้นที่มีหลากหลายแนว ในแนวคิดบางอย่าง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแนวคิดที่ถูกทดสอบอย่างแน่นอน(essentially contested) กล่าวคือ ความขัดแย้งเกี่ยวกับแนวคิดนั้นเป็นไปอย่างรุนแรง ไม่สามารถพัฒนาความหมายที่เป็นกลางขึ้นมาได้  ผลคือ แต่ละฝ่ายก็จะยอมรับเฉพาะแนวคิดที่ตนเห็นด้วยเท่านั้น  ตัวอย่าง เช่น แนวคิดเรื่องการเมืองข้างต้นที่แต่ละกลุ่มอาจจะเข้าใจตามความพอใจของตนทั้งเป็นอาจจะเรื่องของรัฐ, สาธารณะ, การถกเถียงและร่วมมือ หรือการกระจายอำนาจกับทรัพยากรก็ได้

ส่วนโมเดลกับทฤษฏีนั้นมีความกว้างขวางกว่าแนวคิดมาก  ทั้งนี้เป็นเพราะเป็นช่วงของความคิด(range of idea)มากกว่าความคิดใดความคิดหนึ่งเท่านั้น

โมเดล คือ การแสดงรูปแบบแทนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยมักจะเป็นการย่อส่วนลงมาให้เล็กลง คล้ายกับบ้านตุ๊กตาหรือเครื่องบินจำลอง  จุดมุ่งหมายของการสร้างโมเดลคือการจำลองต้นแบบให้เหมือนที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ดี  ก็ไม่ได้หมายความว่าโมเดลจะจำลองได้เหมือนจริงทุกประการเพราะจะกลายเป็นเรื่องตลกไป และไม่มีใครกล้าพูดได้ว่า โมเดลคอมพิเตอร์จะเป็นตัวแทนเศรษฐกิจในโลกจริงได้ ความสามารถของโมเดลขึ้นอยู่กับการได้ข้อมูลที่ดี กล่าวคือ  ข้อมูลจะไม่พูดเองแต่จะต้องนำเอามานำเสนอและรวบรวมจัดระเบียบซึ่งโมเดลจะเข้ามาช่วยในส่วนนี้นั่นเอง โดยจะแสดงและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลที่มีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น โมเดลระบบการเมืองของ David Easton

โมเดลดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อจะอธิบายกระบวนการทางการเมืองไปพร้อม ๆ กับหน้าที่ของตัวแสดงหลักทางการเมือง  ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าการวิเคราะห์แบบระบบก็ได้ ระบบก็คือ องค์รวมที่มีการจัดการหรือมีความซับซ้อนอยู่ภายใน โดยจะมีส่วนต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์และพึ่งพากันอยู่    ระบบการเมืองจะเป็นส่วนที่เชื่อมระหว่าง Inputs กับ Outputs  ส่วน Inputs จะประกอบด้วยความต้องการ(demand) กับการสนับสนุน(support)จากสาธารณะ  ความต้องการจะเป็นรูปแบบของการกดดันระบบการเมืองในประเด็นต่าง ๆ เช่น ให้สร้างมาตรฐานชีวิตที่ดีกว่าเดิม, พัฒนาสภาพการจ้างงาน, การเสริมสร้างสวัสดิการเพื่อสิทธิของคนชายขอบและปัจเจกบุคคล ฯลฯ  ส่วนการสนับสนุน เป็นการที่สาธารณะให้แก่ระบบการเมือง เช่น การจ่ายภาษี, การให้ความร่วมมือ, มีเจตจำนงค์ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ   ส่วน Outputs ประกอบด้วย การตัดสินใจ(decision) กับการลงมือทำ(action)ของรัฐบาล โดยจะมีทั้งการสร้างนโยบาย, การออกกฎหมาย, การกำหนดภาษี และการแจกจ่ายงบประมาณ ซึ่งตัว Outputs นี้เองที่จะทำให้เกิดผลย้อนกลับ(feedback) ซึ่งจะกลายเป็นความต้องการและการสนับสนุนใหม่  ลักษณะของระบบการเมืองของ Easton นี้คือ จะอยู่ในสภาพสมดุลย์ในระยะยาวหรือมีเสถียรภาพทางการเมือง(political stability) คือ สามารถสร้าง Outputs ได้ตรงตาม Inputs ที่เข้ามา

อย่างไรก็ดี  ควรจะต้องระลึกไว้เสมอว่าโมเดลแนวคิดเป็นการทำให้สิ่งเกิดขึ้นจริงดูง่ายที่สุดเพื่อสะดวกแก่การอธิบาย  ดังนั้น จึงเป็นเพียงเครื่องมือในการช่วยทำความเข้าใจเท่านั้น ไม่ใช่ตัวความรู้ที่เชื่อถือได้ทั้งหมด  เช่น ในโมเดลของ Easton พรรคการเมือง(political parties)และกลุ่มผลประโยชน์(interest groups)จะเป็น “gatekeepers” ที่มีหน้าที่จัดการ Inputs ที่กำลังจะเดินทางเข้าไปในระบบการเมือง แม้จะเป็นหน้าที่ที่สำคัญอยู่แล้ว แต่ตัวพรรคหรือกลุ่มผลประโยชน์อาจจะมีส่วนในการสร้างการรับรู้ทางการเมืองเองด้วย หรือโดยธรรมชาติ ก็จะเป็นตัวริเริ่มความต้องการของสาธารณะอยู่แล้ว นี้คือ ตัวอย่างของน่าสนใจของโลกจริงและความซับซ้อนของสถาบันที่มีมากกว่าการอธิบายของโมเดล นอกจากนี้ โมเดลของ Easton อาจจะช่วยอธิบายว่า ทำไมระบบการเมืองถึงต้องตอบสนองต่อการกดดันของประชาชนและทำแบบไหนอย่างไร แต่อาจจะไม่ช่วยในการอธิบายถึงการปราบปรามและการใช้กำลังบังคับที่เกิดขึ้นในระดับต่าง ๆ ได้

ทฤษฏี(theories)และโมเดล(models)ถูกใช้อย่างเชื่อมโยงกันในการศึกษาการเมือง โดยทั้งทฤษฏีกับโมเดลล้วนเริ่มมาจากการแนวคิดเพื่อมุ่งหวังจะนำมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ทางการเมือง แต่ในขณะที่ทฤษฏีมีลักษณะเป็นข้อเสนอ(Proposition) โดยจะมีการอธิบายข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบ  ในทางตรงกันข้าม โมเดลเป็นเพียงเครื่องมือช่วยอธิบายเท่านั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสมมติฐาน(hypothesis)ที่รอการพิสูจน์ ดังนั้น ในการศึกษาการเมือง  ตัวทฤษฏีอาจจะพูดถึงได้ว่า มัน “ถูก” หรือ “ผิด” แต่สำหรับโมเดล ควรจะพูดถึงมันว่า จะเอามาใช้ได้หรือไม่ได้เท่านั้น  อย่างไรก็ดี ดังที่กล่าวไปแล้วทั้งสองมักเชื่อมโยงกัน นักทฤษฏีการเมืองมักจะอธิบายผ่านโมเดลต่าง ๆ เช่น ทฤษฏีพหุนิยม(pluralism theory) อาจจะใช่โมเดลการแข่งขันในการเลือกตั้ง, โมเดลกลุ่มการเมือง ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ทั้งแนวคิด, ทฤษฏี และโมเดล ต่างก็แฝงไว้ซึ่งค่านิยม(value)และข้อสันนิษฐานไว้เป็นนัย ๆ นี้คือเหตุผลที่ไม่สามารถสร้างทฤษฏีในเชิงประจักษ์ได้อย่างบริสุทธิ์ และกำจัดความเชื่อเชิงปทัสถานและค่านิยมได้อย่างหมดจด  ในส่วนของแนวคิดจะแสดงออกมาในแนวโน้มของการเลือกใช้คำของคนโดยแบ่งเป็นคำทางบวก เช่น เสรีภาพ, ประชาธิปไตย, ความยุติธรรม กับคำในทางลบ เช่น ความขัดแย้ง, อนาธิปไตย หรือแม้แต่คำว่าการเมือง  คล้ายกับส่วนของโมเดลกับทฤษฏีที่จะมีอคติอยู่ไม่น้อย   เช่น ทฤษฏี rational-choice ที่ยากจะบอกว่าไม่มีค่านิยมแฝงอยู่  เพราะตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานที่ว่า มนุษย์ล้วนแล้วแต่เห็นแก่ตัวและเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยที่พวกนี้มักจะบอกว่าการร่วมกันลงมติเกี่ยวกับนโยบายเป็นการกระทำของพวกอนุรักษนิยมทางการเมือง  หรือในทฤษฏีชนชั้นของพวกมาร์กซิสม์ ได้วางอยู่บนทฤษฏีทางประวัติศาสตร์และสังคมที่มักจะอิงกับปรัชญาทางสังคมอยู่แล้ว

เครื่องมือในการวิเคราะห์อย่างโมเดลและทฤษฏีจุลภาค(microtheories)จะถูกสร้างขึ้นจากทฤษฏีมหภาค(macrotheories) ซึ่งทฤษฏีแบบนี้จะเป็นเครื่องมือหลักในการวิเคราะห์ทางการเมืองในการจะพิจารณาอำนาจและบทบาทของรัฐว่ามีลักษณะอย่างไร เช่น พหุนิยม(pluralism), ชนชั้นนำนิยม(Elitism), แบบชนชั้น ฯลฯ ในระดับลึกลงไปกว่านั้นทฤษฏีมหภาคจะสะท้อนถึงข้อสันนิษฐานหรือความเชื่อของแบบแผนความคิดหลักชนิดหนึ่งหรือมากกว่านั้น   แบบแผนความคิดนี้คือสิ่งที่ Thomas Kuhn เรียกในงาน The Structure of Scientific Revolutions(1962) ว่า “กระบวนทัศน์(paradigm)” หรือกลุ่มของหลักการ, ทิศทาง และทฤษฏีที่เชื่อมโยงกันซึ่งจะช่วยในการสร้างกระบวนการค้นคว้าความรู้ที่เหมาะสมกับลักษณะของตัวเอง  คือ การกำหนดกรอบของการหาความรู้   ตัวอย่างเช่น ในทางเศรษฐศาสตร์ มีการแทนที่มุมมองแบบ Keynesianism เป็นแบบ monetarism(ซึ่งมีกลายเปลี่ยนเป็นแบบ neo-Keynesian ด้วย) หรือในนโยบายเกี่ยวกับการขนส่ง ที่เน้นความคิดสีเขียวในปัจจุบัน

จากงานของ Kuhn วิทยาศาสตร์ธรรมชาติมีกระบวนทัศน์ที่มีอิทธิพลเพียงกระบวนทัศน์เดียว  วิทยาศาสตร์จะพัฒนาผ่านปฏิวัติโดยกระบวนทัศน์เก่าจะถูกแทนที่โดยกระบวนทัศน์ใหม่มาเรื่อย ๆ   แต่ในการค้นคว้าหาความรู้ในการเมืองและสังคมแตกต่างออกไป เพราะมีกระบวนทัศน์หลาย ๆ แบบบนเวทีการต่อสู้ในเวลาเดียวกัน  โดยอยู่ในรูปของปรัชญาสังคมที่หลากหลาย เช่น เสรีนิยม, อนุรักษนิยม, สังคมนิยม, ฟาสซิสม์, สตรีนิยม ฯลฯ ซึ่งต่างก็แสดงถึงสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูกต้องเหมาะสมกับสิ่งที่กำลังดำรงอยู่ในสังคม พูดอีกอย่างคือ มีวิธีการมองโลกแบบเฉพาะตัว

Leave a comment